ขอบคุณรูปภาพจาก pinterest
ทำไมเมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วกลับยอมถูกกลืนกลายเป็นไทยเสียได้? ผู้อ่านคงจะมีความสงสัยกัน เพราะว่าเราจะเห็นคนไทยเชื้อสายจีนทั่วทั้งประเทศ อาจจะกล่าวได้ว่าคนจีนนั้นเป็นชาติที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมากตั้งแต่ในอดีตแต่ทำไมในไทยนั้นก็มีคนเชื้อสายจีนอยู่มากแต่การดำเนินชีวิตหรือความเป็นเอตลักษร์ของลูกหลานชาวจีนที่อยู่ในไทยนั้นไม่ได้คงไว้แบบเข้มข้นเท่าไรวันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
จี. วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการเรื่องจีนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เขียนว่า“การกลืน วัฒนธรรม ถือว่าสมบูรณ์เมื่อลูกหลานของคนเข้าเมืองระบุตนเองในสถานการณ์ทางสังคมเกือบทุกอย่างว่าเป็นไทย พูดภาษาไทยเป็นนิสัยและพูดได้คล่องแคล่วเหมือนกับคนพื้นเมือง และเลือกมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยบ่อยกว่าคนจีน
สกินเนอร์เชื่อว่าการกลืนวัฒนธรรมนี้สำเร็จได้เพราะนโยบายของผู้ปกครองของไทยในอดีตที่รับพ่อค้าจีนเป็นขุนนางไทย ถ้าอิงความเชื่อตามความคิดของเขา ก็อธิบายได้ว่าเมื่อคนจีนเข้ามา “เป็นใหญ่” ในบ้านเมืองนี้ ก็จะต้องปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น หรือเป็นเพราะว่ารู้สึกว่าตนร่วมเป็นเจ้าของบ้านเมืองนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ ชานกว็อกบุง และ ตงชีเกียง ในเวลาต่อมา ได้เสนอมุมมองที่ต่างออกไป โดยระบุว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การถูกกลืนวัฒนธรรมจนรวมเป็นเนื้อเดียวกับชนกลุ่มใหญ่ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน โดยชี้ให้เห็นว่าขณะที่คนจีนกลายเป็นไทยมากขึ้น คนไทยก็กลายเป็นจีนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
หากมองในแง่นี้ อาจมองได้ว่าวัฒนธรรมไทยกับจีนมีส่วนที่คาบเกี่ยวกันอยู่ ทำให้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้รับการยอมรับจากคนทั้งสองฝ่ายง่ายขึ้นนั้นอง
อะไรที่คนไทยเห็นว่าดีก็หยิบยืมมาจากจีนมาใช้ ส่วนอะไรที่คนจีนเห็นว่าดีก็หยิบยืมมาจากไทยเช่นกัน จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมแบบลูกผสมอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าคนจีนเป็นฝ่ายถูกวัฒนธรรมไทยกลืนเสียทั้งหมด
ขอบคุณรูปภาพจาก pinterest
แต่เดิมมา มีคำวิจารณ์ว่าคนไทยนั้นมีนิสัยค่อนข้างเฉื่อยชา ขี้เกียจ เวลาจะทำอะไรมักจะต้องรอคำสั่งจากเจ้านายเสียก่อน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการอยู่ในสังคมแบบศักดินาที่คนส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นไพร่และทาส ต้องสังกัดมูลนาย และไม่มีอิสระในการใช้ชีวิตของตัวเอง แต่เมื่อคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาในเมืองไทยแล้ว นิสัยของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะคนจีนได้นำเอาวัฒนธรรมที่สืบมาจากชุดคำสอน ขงจื๊อ จากบ้านเกิดติดตัวมาด้วย
ขงจื๊อจะสอนให้คนดำรงตนกลมกลืนกับสังคม ทำหน้าที่ของตนในสังคมให้ดี มีความภักดีต่อชาติบ้านเมือง แง่นี้จึงถือว่าลัทธิขงจื๊อเอื้อให้คนจีนเป็นประชากรที่ดีของดินแดนที่ตนไปอยู่
ในด้านการศึกษาและธุรกิจ คนจีนจะขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ประหยัดอดออม หมั่นแสวงหาความรู้ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้า
สิ่งนี้ทำให้ชาวจีนอพยพสามารถเลื่อนฐานะของตนได้ง่ายเมื่อมีโอกาส ทำให้คนไทยต้องเร่งตามขยันแข่งกับคนจีนขึ้นมาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ชาติมีความก้าวหน้าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขงจื๊อยังเน้นบทบาทครอบครัวเหนือปัจเจกบุคคล มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างชัดเจนทั้งในด้านอายุและเพศ โดยสอนว่าผู้ใหญ่นั้นมีฐานะเหนือกว่าเด็ก และผู้ชายมีฐานะเหนือกว่าผู้หญิง สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในรูปของการบูชาบรรพบุรุษตามสายบิดา การสืบสกุลผ่านทางผู้ชาย การให้สิทธิชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติกับลูกสาวตามมา
หลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์พ่อแม่เลี้ยงลูกชายดีกว่าลูกสาว เพราะคิดว่าสืบตระกูลได้ บางบ้านถึงกับมองลูกสาวว่าไม่ดี ไม่อยากมีกันเลยทีเดียว ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนคือการแบ่งมรดกที่ยังยึดตามขนบธรรมเนียมเดิม แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละครอบครัว แต่โดยรวมผู้ชายมักจะได้สิ่งต่างๆมากกว่าผู้หญิง
หรือกรณีที่ลูกสาวแต่งงานไปแล้ว หากพ่อแม่ให้เงินติดตัวไปมาก ก็มักได้มรดกน้อยลงตามไปด้วย บางคนไม่ได้มรดกเลยก็มี เพราะถือว่าเป็นสมาชิกของบ้านอื่นแล้ว อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยมีแนวคิดเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่เหมือนในสมัยก่อนแล้ว บ้างเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจของตระกูลมากขึ้น บางคนหากมีพ่อใจกว้างอาจได้สืบทอดกิจการด้วยซ้ำ และหากเป็นคนมีความสามารถจริงก็ย่อมได้รับการยอมรับจากลูกน้อง ตรงนี้ทั้งหญิงและชายก็ต้องพิสูจน์ตัวเองพอๆ กัน
มุมหนึ่งที่หลายๆ คนมักละเลยก็คือ ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อของค่านิยมปิตาธิปไตยเช่นกัน เพราะพวกเขาถูกคาดหวังว่าต้องเข้มแข็ง อดทน ต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จะต้องดูแลครอบครัวได้ โดยเฉพาะลูกชายคนโต หรือ “ตั่วเฮีย” จะถูกคาดหวังจากพ่อแม่มากเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นผู้สืบวงศ์ตระกูลและเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่ ตามหลักกตัญญูของแนวคิดของขงจื๊อ สำหรับจีนที่มาตั้งรกรากในไทย ลูกชายคนโตจะโดนกดดันเป็นอย่างมาก หลายคนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เที่ยวเล่นก็ไม่ได้ เพราะถูกกำหนดให้มาช่วยงานกงสีที่บ้าน อีกทั้งยังต้องดูแลน้องๆ ให้เติบโตมาเป็นคนดี
ยิ่งบางบ้านต่อให้ลูกโตกันเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวกันหมด แต่พอน้องมีปัญหา เช่นอาจจะติดหนี้ ตั่วเฮียก็ต้องตามไปแก้ไขให้ เพราะถือว่าเป็นพ่อคนที่สองนั้นเอง
ภาพรวมในปัจจุบันของลูกหลานชาวจีน
จากสถิติปี 2012 ชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ประมาณ 9.3 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 14% ของประชากรไทย เรียกได้ว่าเป็น ชนกลุ่มน้อย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศไทยสูงมาก แผ่อิทธิพลครอบงำวงการธุรกิจ การเมือง แม้กระทั่งในหมู่ชนชั้นสูงในไทยก็มีการแต่งงานรับคนเชื้อสายจีนเข้ามามาก
การที่คนไทยเชื้อสายจีนเรียนรู้และเข้าใจที่มาของตัวเองย่อมเป็นสิ่งดีที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับการที่คนไทยกลุ่มอื่นๆ ที่มาอ่านบทความนี้จะได้มีความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ไม่มองแต่เฉพาะในแง่แบ่งเขา-แบ่งเรา หรือมองว่าใครเป็น “ไทยแท้” มากกว่ากัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นสังคมไทยเป็นสังคมลูกผสมที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้นานนับหลายปี ก็ด้วยความใจกว้าง และการยอมรับความแตกต่างมาช้านานนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก Lucabetasia.co