ช่วงนี้เราจะสังเกตได้ว่าค่าฝุ่นละอองในอากาศกลับมาเพิ่มขึ้นสูงในทุกวัน เป็นเพราะค่าฝุ่นสูงหรืออากาศที่กันแน่? เพราะเราจะเห็นได้จากบรรยากาศที่คล้ายหมอกในยามเช้าท้องฟ้าดูไม่สดใสเท่าไร และเมื่อ เช็คพยากรณ์อากาศก็รู้สึกผิดหวังเพราะส่วนใหญ่แล้วท้องฟ้าที่เราเห็นนั้นเป็นที่ฟ้าครึ้มและดูเหมือนหมอกมาจากฝุ่นมากกว่าอากาศที่หนาว แต่ในช่วงที่ค่าฝุ่นพุ่งสูงนั้นเราก็มักจะรอคอยให้ฝนตกมาชะล้างฝุ่นละอองออกไปอยู่บ่อยๆ เพราะท้องฟ้าหลังฝนตกนั้นดูโปร่งและสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ช่วงหลังๆมานี้ถึงแม้ว่าจะมี ฝนตกประปรายก็ไม่เห็นว่าค่าฝุ่นจะลดน้อยลงสักเท่าไร จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า “การที่ฝนตกนั้นช่วยลดฝุ่นละอองภายในอากาศได้จริงหรือไม่?”
ใครที่สงสัยสำหรับคำถามในประเด็นนี้ นักอุตุเคมีวิทยา เองก็เกิดความสงสัยขึ้นเหมือนกันและทำการศึกษาถึง กระบวนการชะล้างมลพิษในอากาศขณะเกิดฝน โดยเปรียบเทียบจากลักษณะการก่อตัวของเมฆ, ขนาดของเม็ดฝน, การกระจายตัวของฝน เพื่อทำการคาดการณ์ถึงความน่าจะเป็นที่ฝนจะชะล้างอนุภาคต่างๆ ภายในอากาศออกไป โดยการจำลองสถานการณ์ฝนตกในห้องควบคุมของทางศูนย์วิจัยเพื่อควบคุมความแรงและขนาดของเม็ดฝนที่ตกลงมาในการศึกษาว่าเม็ดฝนจะจับเอาอนุภาคต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศลงมาขณะตกลงพื้นหรือไม่ และผลการทดลองก็สรุปได้ว่า ฝนสามารถชะล้างฝุ่นละอองและอนุภาคต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้, ซัลเฟต และอนุภาคอินทรีย์ต่างๆ ในอากาศ เป็นต้น ฝนนั้นก็สามารถชะล้างฝุ่นละอองเหล่านี้ได้จริง
อย่างไรก็ตาม การศึกษาของนักอุตุเคมีวิทยา นั้นไม่ได้ระบุลงลึกไปถึงลักษณะและขนาดของอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่ฝนสามารถชะล้างออกไปได้ ว่ามีขนาดเท่าไร แต่มีผลการศึกษาเรื่องฝุ่นละอองในเมืองหลานโจว ของมหาวิทยาลัย Chengdu ประเทศจีน พบว่าปริมาณเปอร์เซนต์ (%) ของฝุ่นละอองในอากาศหลังการเกิดฝนตกเบาๆ นั้นลดลงไม่มากนัก และหากนับเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm 2.5 และ PM 1.0 ไปจนฝนตกหนัก ก็หายไปเพียงแค่เกือบ 10 % หลังจากฝนตกหนักเท่านั้น ในขณะที่ ฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่า PM 2.5 นั้น หายไปเกือบ 30 % เลยทีเดียว เพราะในช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูงปริมาณฝุ่นก็ไม่ได้ลดน้อยลงจากช่วยที่อากาศแห้งซักเท่าไร
ในเมื่อความชื้นในอากาศและน้ำฝนไม่ได้มีส่วนช่วยชะล้างฝุ่นละอองในอากาศ โดยเฉพาะกับ PM 2.5 ออกไปได้ซักเท่าไร แล้วทำไมบางครั้งเราจึงเห็นว่าค่าฝุ่นลดน้อยลงหลังจากฝนตก? นั่นเป็นเพราะในช่วงเวลาที่ฝนตกนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ “น้ำฝน” เพียงเท่านั้น แต่มันมาพร้อมกับ “ลม” ที่จะช่วย พัดฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศให้ไปยังพื้นที่อื่น ทำให้ท้องฟ้าบริเวณที่เราอาศัยอยู่ดูโปร่งและสดใสมากขึ้นนั่นเอง
โดยผลสรุปจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนางาซากิก็ชี้ให้เห็นว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ในช่วงที่มีอัตราการพัดผ่านของลมสูงจะมี ปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีลมพัดผ่าน หรือแรงลมต่ำ และจากการเก็บข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองในอากาศขนาดต่างๆ ภายในช่วงเวลา 1 วันในเมืองหลานโจว ประเทศจีน ก็พบว่าช่วงเวลาที่ มวลอากาศเย็น พัดผ่านตัวเมืองนั้นได้ พัดเอาฝุ่นละอองออกไปนอกเมือง ด้วย แม้จะไม่มีการก่อตัวของเมฆฝนเลยแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ ผลการศึกษาทางอุตุเคมีวิทยาที่มีการเก็บข้อมูลการกระจายตัวของฝุ่นละอองภายในอากาศในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทวีปยุโรป ทั้งจากเมือง Basel และ Payerne ประเทศสวิสเซอร์แลนด์, Bloomsbury และ Harwell สหราชอาณาจักร, Illmitz ประเทศออสเตรีย, Langenbruegge ประเทศเยอรมนี และ Penausende ประเทศสเปน มาเปรียบเทียบผลกัน ก็พบว่า แรงลมมีผลต่อการเคลื่อนตัวของฝุ่นอย่างมีความสำคัญ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะถูกลมพัดพาออกไปได้ง่ายกว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่ PM 2.5 ขึ้นไป นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แรงลมก็ไม่ได้ช่วยให้ปริมาณฝุ่นลดลงเพียงอย่างเดียว เพราะใน บางครั้งมันก็พัดพาฝุ่นจากทิศทางอื่นเข้ามาด้วย อย่างในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความชุกของฝุ่นละอองภายในอากาศจำนวนมากทั้งควันจากท่อไอเสียรถ และการเผาไหม้จากอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ด้วยปริมาณของตึกสูงจำนวนมากก็มีส่วนในการปิดกั้นทางเดินลมก็ทำให้ ฝุ่นในอากาศไม่ได้รับการระบายออก และยังคงมีปริมาณที่สูงอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาที่ “ฝนตก” ที่มีทั้งลมและน้ำฝนนั้นจะสามารถช่วย ลดฝุ่นละอองภายในอากาศไปได้บางส่วน เพราะมลพิษในอากาศที่เราเห็นนั้นประกอบไปด้วยฝุ่นละอองขนาดต่างๆ ปะปนกันไป ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 1.0 จะถูกลมพัดพาออกไป ในขณะที่ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ตั้งแต่ PM 2.5 ขึ้นไป ก็จะถูกชะล้างออกไปด้วยน้ำฝน แต่ถึงอย่างนั้นการฉีดละอองน้ำขึ้นไปบนอากาศเพื่อไล่ฝุ่น PM 2.5 นั้นเป็นวิธีการลดฝุ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะนอกจากจะไม่มีแรงลมในการช่วยพัดฝุ่นแล้ว ปริมาณของน้ำในอากาศยังน้อยกว่าการที่ฝนตกปรอยๆ เสียอีกด้วย